6 อาการ น้ำตาลในเลือดผิดปกติ ต้องแก้ไขด่วน



firstthaintp

โดย เอื้อมพร แสงสุวรรณ NTP

ที่จริง อาการร่างกายที่ชี้ว่า ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกตินั้น มีหลายอย่าง แต่เรายกมาแค่ 6 อาการ (ที่คนทำงานอาจรู้สึกว่าเป็นปกติ) ทั้งที่แท้ที่จริง เป็นอาการผิดปกติ

ก่อนอื่น ลองเช็คตัวเองก่อนว่า มีอาการเหล่านี้ไหม

  1. อยากดื่มกาแฟ หรือกินของหวานช่วงบ่าย
  2. ง่วงนอนตอนบ่าย
  3. มีอาการอ่อนเพลีย ซึ่งแก้ด้วยการกิน
  4. ปวดหัว ถ้ากินอาหารไม่ตรงเวลา
  5. หงุดหงิดเวลาหิวอาหาร
  6. มือสั่น ถ้ากินอาหารไม่ตรงเวลา

อาการเหล่านี้ คือ 6 ใน 13 อย่าง ของผู้ที่ปัญหาเรื่องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ที่เกี่ยวข้องกับภาวะน้ำตาลในเลือดตก อันเป็นอาการกลุ่มหนึ่งของโรคไฮโปไกลซีเมียนั่นเอง

จากตำราของนักบำบัดโรคด้วยอาหาร หรือ NTP กล่าวว่า ไฮโปไกลซีเมียเป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบอีรันพันตูระหว่างตับอ่อน ตับ และต่อมอะดรีนอล กล่าวคือ เมื่อเราบริโภคอาหารที่เต็มไปด้วยแป้งขาวและของหวาน ในมื้อก่อนหน้านี้ พลังงานจะพุ่งขึ้นสูงภายใน 1-2 ชั่วโมง และตกลงอย่างรวดเร็ว

ในภาวะน้ำตาลในเลือดตกนี่เอง สมองจะสั่งให้ร่างกายอยู่ในโหมด fight to flight ซึ่งต่อมอะดรีนอลจะออกโรงทำงาน หมายถึง หลั่งคอร์ติซอล หรือ/และอะดรีนาลีนออกมา ทั้งนี้ร่างกายจะอยู่ในภาวะตึงเครียดสูงสุด พร้อมกันนั้นเอง ตับอ่อนจะไปดึงพลังงานที่สะสมอยู่ในรูปของไกลโคเจนมาจากตับ ออกมาใช้งาน และถ้าหากไม่มีพลังงานในรูปแบบของไกลโคเจนในตับ หรือมีไม่พอ ร่างกายจะไปดึงพลังงานออกมาจากกล้ามเนื้อ และช่วงเวลานั้นความดันโลหิตจะสูงขึ้น ชีพจรจะเต้นเร็วขึ้น

นี่คือภาวะที่จะเกิดขึ้นภายในสองชั่วโมง หลังจากที่เรากินอาหารที่ให้พลังงานรวดเร็ว เช่น แป้งขาว ของหวาน รวมถึงผลไม้หวาน ซึ่งเมื่อเกิดภาวะนี้ เราจะดื่มกาแฟ กินของหวาน ทำให้วงจรเช่นนี้จะเริ่มขึ้นอีกครั้ง และอีกครั้ง และอีกครั้งในมื้อต่อ ๆ ไป

จาก 1 วัน ต่อเนื่องเป็น 1 สัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี…ตับอ่อน ตับ และต่อมอะดรีนอล ต้องร่วมกันรับมือกับภาวะ fight to flight (ถ้าเป็นสมัยยุคหิน คือเป็นภาวะที่เราวิ่งหนีช้างป่า ไฟป่า) จนสุดท้าย อวัยวะทั้งสามนี้ก็เหนื่อยล้า อ่อนแรง

ตับอ่อน เมื่ออ่อนแรงจะก่อให้เกิดภาวะ insulin resistance หรือภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวาน อ้วน ไขมันพอกตับ

ตับ เมื่ออ่อนแรง ก็จะมีผลต่อความผิดปกติของการขับพิษ ความผิดปกติของการนำไขมันไปใช้เป็นพลังงาน (แทนการนำไขมันไปใช้เป็นพลังงาน ร่างกายจะสะสมอย่างเดียว นำไปสู่โรคไขมันพอกตับ อ้วน)

ต่อมอะดรีนอล เมื่ออ่อนแรง ก็จะเกิดภาวะคอร์ติซอลต่ำ ส่งผลต่ออารมณ์ และสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดภาวะอารมณ์แปรปรวน และโรคซึมเศร้า

จากบทเรียนของนักบำบัดโรคด้วยอาหาร (NTP) จำแนกผู้ที่มีภาวะไฮโมไกลซีเมีย ที่มีอาการทั้ง 6 อย่างดังกล่าวข้างต้น ออกเป็นสองกลุ่ม นั่นคือ

  1. กลุ่มแรกคือ ตื่นนอนแล้วเวียนหัว ตื่นนอนแล้วมึนงง ต้องกินอาหารทุก 2 ชั่วโมง มีอาการอยากกินแป้งขาวและของหวานมาก ไม่สามารถรอ 3-4 ชั่วโมง จนถึงมื้ออาหารเหมือนเพื่อน ๆ ได้เลย คนเหล่านี้จะย่อยแป้ง น้ำตาล และโปรตีนได้ดี แต่ไม่สามารถกักเก็บพลังงานไว้ในตับ (ในรูปแบบไกลโคเจน) หรือนำพลังงานจากตับมาใช้ได้เลย ฉะนั้นเมื่อถึงเวลานอนหลับ ร่างกายก็จะเผาผลาญพลังงานจนหมด โดยไม่เก็บเอาไว้ ส่งผลให้เมื่อตื่นขึ้นมา ก็จะรู้สึกหมดพลังงาน หมดเรี่ยวหมดแรง
  2. กลุ่มที่สองคือ ตื่นนอนแล้วงัวเงีย สมองไม่แล่น ทึบ ตื้อ ต้องดื่มกาแฟสักแก้วสองแก้วเพื่อเริ่มวันใหม่ โดยไม่ต้องกินอาหารเช้า และเมื่อถึงเวลากลางวัน ก็ยังเป็นกาแฟและของหวาน ที่จะทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกดี ก่อนจบมื้อเย็นด้วยอาหารมื้อใหญ่บึ้ม ถึงจะหลับตาลงได้อีกครั้ง คนเหล่านี้จะมีอาการงุนงง เวียนหัว ปวดเฮดในวันหยุด เนื่องจากร่างกายต้องการความตึงเครียดมาทำให้ร่างกายทำงาน หรือผลักดันให้ร่างกายทำงาน นั่นเป็นเพราะร่างกายไม่สามารถปล่อยไกลโคเจนในตับออกมาทำงานเป็นปกติได้ ต้องอาศัยฮอร์โมนความเครียดจากต่อมอะดรีนอลเท่านั้น

การแก้อาการดังกล่าว คงต้องเริ่มจากการฝึกตนเองให้ลดการกินแป้งขาว ของหวาน และผลไม้หวาน ปรับนาฬิกาชีวิตให้เป็นคนตื่นนอนก่อน 6 โมงเช้า และเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม ออกกำลังกายเบา ๆ เช่นการเดินอย่างสม่ำเสมอ

สมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว ที่สามารถดื่มแทนกาแฟ ได้แก่ ขิง และโสม


photography by Ueam


© 2024 FIRSTTHAINTP.COM